Yamaha Tricity รีวิว แบบระเอียด เจาะลึก

Hot pick of month – Yamaha Tricity
Ride of the Future – Yamaha Tricity "รถแห่งอนาคต"
         จากไอเดียสุดล้ำของรถ Prototype หรือที่เรียกว่า "รถต้นแบบ" Yamaha Tricity ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกตั้งแต่มันถูกเผยโฉมในงาน Tokyo Motorshow 2014 และล่าสุดในงาน Bangkok International Motorshow 2014 ที่ประเทศไทย...Yamaha ก็ได้เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของ 2014 Yamaha Tricity ซึ่งถือกำเนิดจากโรงงานของยามาฮ่าประเทศไทยเพื่อจำหน่ายในบ้านเราและส่งออกไปทั่วโลก นี่คือสัมผัสแห่งอนาคต...นี่คือรถแห่งอนาคต...นี่คือความแปลกใหม่ที่ต้องลอง หยิบหมวกอวกาศใบเก่งของคุณขึ้นมาแล้วกระโดดขึ้นซ้อนท้ายเจ้า Tricity (ทริ – ซิ – ตี้) คันนี้แล้วร่วมสัมผัสความรู้สึกใหม่ในการขับขี่ไปกับเราในบททดสอบของเรา FRM ได้เลยครับ!
Highlight – จุดเด่น
  - ล้อหน้าคู่พร้อมดิสก์เบรกคู่
  - ระบบควบคุมล้อแบบ LMW
  - ระบบเบรก UBS เชื่อมโยงเบรก
  - ไฟหน้า LED และ Halogen
  - ไฟท้าย LED
  - เรือนไมล์ Full LCD Digital
  - หัวฉีด YMJET_FI
  - กระบอกสูบ DiASil
  - กุญแจรีโมท Answer Back
  - กล่องเก็บของ Mega Box ความจุ 20 ลิตร
  - เครื่องยนต์ 125 ซีซี. ระบายความร้อนด้วยน้ำ
  - ขาตั้งนิรภัย
Performance – สมรรถนะ
         * เนื่องจาก Yamaha Tricity ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น City Bike หรือรถสำหรับใช้งานในเมือง การทดสอบเพียงใช้งานในเมืองหรือทดสอบแค่ท่องเที่ยวคงไม่อาจตอบสนองความต้องการ "อยากรู้" ของคุณผู้อ่านได้...ดังนั้นเราจึงแบ่งฟิลลิ่งหรือผลการทดสอบออกเป็น 2 แบบ ซึ่งก็คือ City Ride (การขับขี่ในเมือง) และ Trip Ride (การขับขี่ท่องเที่ยวทางไกล)...งั้นเรามาเริ่มจากหมวด "สมรรถนะ – การขับขี่ในเมือง" กันก่อนดีกว่า
City Ride – สมรรถนะการขับขี่ในเมือง
         ในการทดสอบครั้งนี้ Yamaha Tricity มาอยู่กับเรานานเป็นพิเศษ ซึ่งเราได้จับมันวิ่งผ่านถนนที่หลากหลายที่มีตั้งแต่ถนนโล่งจนเตะฟุตบอลได้ไปจนถึงถนนติดจนไม่มีที่ให้แมลงวันบินผ่าน (นั่นก็เว่อไป!) เอาเป็นว่าถ้าพูดถึงถนนในกรุงเทพฯ อย่าง ลาดพร้าว – สุขุมวิท – เอกมัย – เพชรบุรี...โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า 07.00-08.00 หรือช่วงเวลาที่ทุกคนแข่งกันกลับบ้านอย่าง 15.00-17.00 แค่นี้คงพอนึกภาพออกนะครับว่าการจราจรจะเลวร้ายขนาดไหน
         เช้าวันทำงาน...หยิบเสื้อแจ็กเก็ตตัวเก่ง หมวกครึ่งใบ (ก็อากาศมันร้อน) ถุงมือครึ่งข้อ...แล้วสตาร์ท Tricity ด้วยการจิ้มปุ่มสตาร์ทเบาๆ (โดยไม่ต้องบิดคันเร่ง เพราะระบบหัวฉีด YMJET_FI จะคำนวณปริมาณเชื้อเพลิงและสั่งจ่ายให้เอง) แค่นี้เครื่องยนต์ 125 ซีซี. ของ Tricity ก็เริ่มเดินเครื่องและวอร์มอัพตัวเอง คันเร่งที่ให้ความรู้สึกนุ่มมือเมื่อจับถูกบิดช้าๆ เพื่อออกตัว ความรู้สึกแรกกับกำลังแรงบิดออกตัวต้องบอกว่า "ต้นดี บิดติดมือ" อาจไม่กระชากมากเหมือนรุ่นพี่อย่าง Mio125i แต่ก็รู้สึกถึงความเร็วที่เพิ่มขึ้นเมื่อเติมคันเร่ง จังหวะออกตัวทำได้ดีเช่นเดียวกับจังหวะแซงรถที่ช้ากว่า คันเร่งถูกบิดไว้ที่ 50% ซึ่งกำลังรอบเครื่องมีมากพอที่จะแซงรถบนถนนใหญ่ได้อย่างสบาย แม้จะเติมคันเร่งไปที่ 70% แต่กำลังเครื่องยนต์ยังคงเหลือไว้ให้เราแซงที่ความเร็ว 80 กม./ชม. ได้แบบไม่ต้องลุ้น ด่านแรกของการทดสอบด้านแรงบิด – Tricity ให้แรงบิดดีในช่วงต้น-กลาง (คล้ายๆ Nouvo SX)
         เมื่อขึ้นสู่ถนนใหญ่ ความเร็วแบบ City Ride ในช่วงที่ถนนโล่งจะอยู่ที่ 75-80 กม./ชม. (คันเร่งยังเหลือให้บิดได้อีก) ในขณะที่เมื่อเจอกับรถติด ความเร็วอาจตกลงมาเหลือที่ 20-40 กม./ชม. เมื่อพูดถึงความเร็วในการออกตัวจากไฟแดง (ซึ่งหลายคนแคร์จุดนี้มาก...ราวกับอยู่ในสนามแข่ง) เรารู้สึกว่า Tricity ออกตัวได้ดีไม่แพ้ใคร (ใช้คันเร่ง 100%) หรือออกตัวได้พร้อมๆ กับคนอื่น (ใช้คันเร่ง 70%) สรุปได้ว่าจังหวะออกตัวของ Tricity ไม่น่าเป็นห่วงครับ เลือกได้เลยว่าอยากขึ้นนำเป็นจ่าฝูงหรือขี่ชิลล์ๆ ตามไปเรื่อยๆ (เพราะเดี๋ยวก็ไปติดไฟแดงข้างหน้าอยู่ดี) จากความกังวลในตอนแรกเรื่องน้ำหนักตัวและการที่มี 2 ล้อหน้าอาจมีผลต่อแรงบิดและความเร็ว...เราขอฟันธงเลยว่าแทบไม่ต่างจากรถ 2 ล้อครับ แค่แรงบิดรอบต้น-กลาง ที่ Tricity มีให้ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานในเมืองได้แบบสบายๆ ช่วงรถโล่งทำความเร็วได้ ออกตัวได้ดี เร่งติดมือ ช่วงรถติดบิดมุดได้ไม่ขาดตอน สมรรถนะของเครื่องยนต์ 125 ซีซี. จาก Tricity ขี่ในเมือง "สนุก" ดีอย่าบอกใคร!
         *ซ้อน 2 ในเมือง* - เมื่อผู้ขี่หนัก 89 กก. และคนซ้อนหนัก 65 กก. ขี่ร่อนไปมาในเมือง...เราก็ยังคงยืนยันว่าอัตราเร่งดีไม่มีตก ออกตัวได้ดีเร่งติดมือขี่ใช้งานในเมืองได้อย่างคล่องตัว

Trip Ride – สมรรถนะเครื่องยนต์เดินทางไกล
         ด้วยไอเดียที่ว่า "Tricity ไม่น่าจะวิ่งได้แค่ในเมือง" เราจึงลองให้ Tricity พาเราไปเที่ยวพัทยาโดยใช้เส้นทาง กรุงเทพ – บางนา-ตราด – บายพาสเลี่ยงเมือง – สุขุมวิท (พัทยา) เริ่มสตาร์ทการทดสอบจากหน้าออฟฟิศ (ลาดพร้าว) ช่วงเวลาราวๆ 6 โมงเช้า แม้รถจะเริ่มแน่นแต่ก็สามารถหลุดจากช่วงรถติดได้ไม่ยาก จากนั้นเราวิ่งเข้าสู่ถนนบางนา-ตราด  (สมรรถนะของระบบช่วงล่างอยู่ในตอนต่อไป) แม้ถนนบางนา-ตราด จะมีรถสิบล้อและรถทัวร์รวมถึงรถยนต์ทั่วไปที่มุ่งหน้าไปทางเดียวกับเรา เมื่อขึ้นสู่ถนนใหญ่เราก็เริ่มเติมคันเร่งเพิ่มความเร็ว สำหรับถนนที่ไม่แน่นอนและไม่เรียบรวมถึงมีอุปสรรคอย่างเช่นหลุมบ่อและสาวโรงงานคอยวิ่งข้ามถนนตัดหน้า แต่ความเร็วยืนพื้นแบบสบายๆ ที่เราใช้อยู่ที่ 80-85 กม./ชม. ความเร็วดังกล่าวยังคงมีคันเร่งเหลือให้บิดแซงรถสิบล้อได้ตลอดทาง...ตัดมาที่ไฮไลท์ของการเดินทางไกลในช่วงถนนบายพาส เมื่อถนนโล่งลักษณะเป็นทางตรงยาว เราจึงเดินคันเร่งเต็ม 100% ก่อนจะไปแตะความเร็วสูงสุด...เรามาดูอัตราเร่งกันก่อน อัตราเร่งช่วง 0-60 กม./ชม. ของ Tricity อยู่ที่ประมาณ 10 วินาที จาก 0-80 กม./ชม. ราว 16 วินาที (นักทดสอบสูง 189 ซม. หนัก 90 กก. ท่านั่งปกติ) อัตราเร่งที่มีมากในช่วงต้น – กลาง ส่งให้ความเร็วแตะ 80 กม./ชม. ได้ไม่ยาก จากนั้นช่วง 80-95 กม./ชม. ความเร็วค่อยๆ เพิ่มขึ้นแบบไม่รวดเร็วมากนัก จาก 95 กม./ชม. เมื่อไม่มีลมต้าน* ความเร็วสูงสุดที่เราทำได้อยู่ที่ 110 กม./ชม. เมื่อมีลมต้านจากด้านหน้าความเร็วกลับลงมาอยู่ที่ 95-97 กม./ชม. ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางของเราอยู่ที่ประมาณ 100 กม./ชม. สำหรับเรา...ความเร็วระดับนี้กับ Tricity และการเดินทางไกลนับว่าไม่เลวเลยทีเดียว ก่อนจะไปถึงที่หมายเราแอบแวะเที่ยวสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเพื่อทดสอบ "ความเร็วบนเขา" แม้น้ำหนักตัวจะมากถึง 150 กก. แต่เราบอกได้เลยว่ามันเร่งขึ้นภูเขาได้สบายๆ ความเร็วบนเขาอยู่ที่ 35-40 กม./ชม. (ค่อนข้างชัน) ถึงจุดนี้อาจมีหลายคนสงสัยว่า "Tricity ล็อคคันเร่งวิ่งยาวๆ แบบนี้เครื่องจะไม่พังหรือ?" ก็คงต้องตอบว่า Yamaha เค้าจับเอาเทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วอย่าง กระบอกสูบ DiASil และ ลูกสูบฟอร์จ ที่พร้อมรับมือการทำงานหนักในขณะที่ระบายความร้อนและช่วยลดแรงเสียดทานได้ดีแถมมีน้ำหนักเบา วาล์วโรลเลอร์ช่วยให้กระเดื่องวาล์วทำงานได้ลื่นขึ้นและเงียบขึ้น ระบบหัวฉีด YMJET_FI ที่มีลิ้นปีกผีเสื้อ 2 ชุดที่จะช่วยเพิ่มความประหยัดให้กับการขับขี่โดยเฉพาะเมื่อเจอกับรถติดในเมืองใหญ่...สมรรถนะเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมเดินทางไกลหายห่วง ต่อไปเป็นการทดสอบช่วงล่างครับ!

Handling – การบังคับควบคุมรถ
City Ride – การควบคุมรถในเมือง
         การควบคุมรถในเมือง...หัวข้ออาจฟังดูเชยแต่ก็ต้องการสื่อสารให้เข้าใจง่ายที่สุด เพราะช่วงแรกเราพูดถึง Performance หรือสมรรถนะของเครื่องยนต์และแรงบิด...ตอนนี้เราจะกลับมาพูดถึง Handling – Controlling (การควบคุมรถ – การบังคับรถ) และเพื่อไม่ให้มันดูน่าเบื่อ...เรามาดูกันทีละข้อเลยดีกว่า
         1. การซิกแซก – การซิกแซกหรือการมุดไปมาในจังหวะรถติดคงเป็นอะไรที่หลายๆ คนกังวล ด้วยหน้าตาของตัวรถ Tricity ที่ดูใหญ่เทอะทะ หรือจะเป็นการที่มี 2 ล้อด้านหน้า...แต่จากการใช้เวลาหลายวันหลายชั่วโมงอยู่บนหลัง Tricity คันนี้แล้ววิ่งฝ่าดงรถติด เราบอกได้เลยว่าครับว่า "มุดง่ายมาก" อาจต้องใช้ทักษะช่วยเล็กน้อยแต่ตัวรถน่ะสามารถผ่านช่องว่างระหว่างรถยนต์ได้สบาย แฮนด์ที่สูงกับระยะกระจกที่พอดีบวกกับหน้ารถที่ "แคบ" กว่าแฮนด์ทำให้เราสามารถ "กะระยะ" ได้อย่างง่ายดาย อีกจุดที่น่าสนใจในจังหวะโยกแฮนด์หลบกระจกนั่นก็คือ "ความสมดุลของ 2 ล้อหน้า" โดยปกติเวลาเราขี่มอเตอร์ไซค์ จังหวะที่โยกแฮนด์ให้พ้นกระจกรถยนต์...บางครั้งเราอาจรู้สึกไม่บาลานซ์ แต่สำหรับ Tricity เราบอกได้เลยว่า "หน้านิ่งมาก" ซึ่งความนิ่งนี้เองที่ช่วยให้เรามุดผ่านช่วงรถติดได้ง่ายยิ่งขึ้น
         2. มุมเลี้ยว – แม้จะมี 2 ล้อหน้า แต่มุมเลี้ยวของ Tricity นับว่าไม่กว้างและไม่แคบเกินไป การมุดผ่านช่องว่างระหว่างหน้ารถและท้ายรถทำได้เหมือนรถ 2 ล้อปกติ จะมีแค่ช่องแคบๆ ที่มีความกว้างน้อยกว่า 1.30 เมตรเท่านั้นที่อาจต้องถอยหลังโยกหน้าช่วยหน่อย (หมายถึงตอนที่มันติดจริงๆ) แต่ในกรณีที่รถไหลๆ เรื่อยๆ ไม่ถึงกับติดตาย...วงเลี้ยงของ Tricity ไม่เป็นปัญหาสำหรับขับขี่ในเมืองแม้แต่น้อย
         3. พื้นขรุขระ – พื้นขรุขระในแบบกรุงเทพเป็นถนนที่ค่อนข้างพิเศษ เพราะอาจมีทั้งฝาท่อที่มีรอยต่อแสนน่ากลัว รอยรถเมล์เบรกที่อาจทำให้ก้นลอยได้ง่ายๆ หลุมสิบล้อที่ไม่มีวันรู้ว่าจะเจอเมื่อไหร่ เส้นแบ่งเลนถนนสุดลื่น อุปสรรคเหล่านี้เป็นศัตรูตัวฉกาจสำหรับชาว 2 ล้ออย่างเรา...แต่ไม่ว่าพื้นถนนจะเลวร้ายแค่ไหน แต่ Tricity ก็วิ่งผ่านไปได้แบบ "แทบไม่รู้สึก" สาเหตุก็เพราะ LMW

LMW – Leaning Multi Wheels "ระบบบังคับเลี้ยวล้อหน้าคู่"
         เจ้า LMW นี้แหละคือพระเอกและเป็นจุดเด่นของ Tricity ภายใต้หน้าตาสุดล้ำยุคที่ประกอบล้อหน้า 2 ล้อเข้าด้วยกันนั้นมีเทคโนโลยีเจ๋งๆ ซ่อนอยู่นั่นก็คือ "Parallelogram Link" และ "Canti-Levered Telescopic Suspension" ทั้ง 2 เทคโนโลยีนี้รวมกันเรียกเป็น Leaning Multi Wheels หรือเรียกสั้นๆ ว่า LMW

         ระบบ Parallelogram Link มีหน้าที่หลักคือ ช่วย "เชื่อม" ให้ล้อทั้ง 2 ข้าง "เอียง" ไปด้วยกัน-ไปพร้อมกัน อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นจังหวะโยกรถ จังหวะเข้าโค้งหรือจังหวะที่ต้องเจอกับหลุมหรือทางต่างระดับ (ยกตัวอย่าง บริเวณใต้ตอม่อทางด่วนที่พื้นมักจะไม่เท่ากัน) เจ้า Parallelogram Link จะคอยช่วยรักษาบาลานซ์ของรถไว้โดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพถนนอีกต่อไป

         ระบบ Canti-Levered Telescopic Suspension เป็นระบบโช้คแบบใหม่เทคโนโลยีล่าสุดที่ยามาฮ่าเอามาใช้ใน Tricity เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลสูงสุดและให้อารมณ์ในการขับขี่ที่นุ่มลื่นที่สุด เมื่อล้อทั้ง 2 ข้างสามารถขยับขึ้นลงซ้าย-ขวา สามารถเอียงเข้าโค้งได้ดั่งใจด้วยระบบ Parallelogram Link แล้ว ต่อมาก็เป็นหน้าที่ของระบบโช้ค Canti-Levered Telescopic Suspension ที่ประกอบด้วยโช้คหน้าข้างละ 2 ตัว สาเหตุที่มีโช้ค 2 ตัวก็เพื่อความนุ่มนวลสูงสุดโดยโช้คตัวหนึ่งจะมีสปริงเหมือนโช้คมาตรฐานทั่วไปในขณะที่โช้คอีกหนึ่งตัวจะมีแค่เพียงน้ำมันเพื่อทำหน้าที่เป็นแดมเปอร์คอยช่วยให้การทำงานของโช้คนุ่มนวลชวนฝันมากยิ่งขึ้น ลองจินตนาการดูว่าล้อหน้า 2 ข้างสามารถเอียงลงได้พร้อมกันโดยที่รักษาบาลานซ์ของช่วงหน้ารถเอาไว้ตลอดการเข้าโค้ง จากนั้นโช้ค 4 ตัวด้านหน้าจะคอยช่วยให้ล้อทั้ง 2 ยึดเกาะถนนไปได้ตลอดการเข้าโค้งและการวิ่งบนทางเรียบ...นี่แหละสัมผัสแห่งอนาคต!

Trip Ride – การควบคุมรถกับการขับขี่ทางไกล
         ในส่วนของ Trip Ride เราแบ่งการทดสอบในด้าน Controlling  และ Handling ย่อยลงไปอีกเป็น Cornering (การเข้าโค้ง) Suspension (ช่วงล่าง) ซึ่งก่อนจะไปถึงจุดที่เราทดสอบทั้งการเข้าโค้งและช่วงล่าง...เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า Tricity เนี่ยขี่ทางไกลเป็นยังไง?

Ergonomic & Comfort – ท่านั่ง และ ความสบาย
         สิ่งที่เราไม่ได้พูดถึงในตอนแรกคือท่านั่ง (ก็อยากพูดถึงสมรรถนะก่อนอ่ะ!) ท่านั่งของ Tricity เป็นแบบ Straight Up (หลังตรง) เบาะที่นั่งคนขับมีพื้นที่กว้างและแบ่งโซนกับคนซ้อนด้วยการยกระดับเล็กๆ ตรงกลาง จากการลองขึ้นไปนั่งบนเบาะเป็นครั้งแรก นักทดสอบสูง 189 ซม. ส่งสัญญาณบอกเราว่า "นั่งได้พอดี" ระยะแฮนด์ไม่ชนกับหัวเข่า พื้นที่พักเท้ากว้างทำให้ขยับเท้าได้สะดวก ที่สำคัญคือคุณผู้หญิงสามารถใส่กระโปรงก้าวขึ้นนั่งได้อย่างสบาย ที่เรารู้สึกก็คือ แฮนด์ค่อนข้างอยู่ใกล้กับตัวผู้ขี่ทำให้รู้สึกว่าควบคุมรถได้ง่ายขึ้นมั่นใจมากขึ้น แต่สำหรับการเดินทางไกล...นักทดสอบของเราให้ข้อมูลที่น่าสนใจคือ เบาะที่ทำให้ตัวคนขี่อยู่ใกล้กับแฮนด์มากไปนิดทำให้รู้สึกเมื่อยหลัง (เพราะเบาะแบ่งเป็น 2 ชั้น ทำให้ขยับตัวไปด้านหลังมากกว่านี้ไม่ได้) แต่สำหรับการขับขี่ในเมืองถือว่าลงตัว ในการวิ่งทางไกลเบาะที่นุ่มเป็นพิเศษช่วนทอนความเมื่อยทำให้ไม่รู้สึกล้าและสนุกไปกับการขับขี่ (ระยะทางทดสอบไป-กลับราว 400 กม.) วินด์ชีลขนาดกำลังพอดีด้านหน้ารถช่วยลดแรงปะทะจากลมทำให้ไม่เหนื่อยเหมือนการขี่รถออโตเมติกทั่วไป การที่ Tricity มาพร้อม 2 ล้อด้านหน้าช่วยให้การเดินทางด้วยความเร็วยืนพื้น 100 กม./ชม. นั้นไม่เหนื่อยเหมือนรถ 2 ล้อทั่วไป ด้วยความนิ่งของช่วงหน้าที่แทบไม่ออกอาการส่ายให้เห็นไม่ว่าจะเจอลมปะทะหรือเจอแรงลมสวนจากรถบรรทุก

Suspension – ช่วงล่าง
         ระบบกันสั่นสะเทือนของ Tricity นั่นน่าจับตามองมากโดยเฉพาะโช้คหน้าที่จัดมาให้ผู้ใช้ถึง 4 ตัว (ข้างละ 2 ตัว) ในขณะที่โช้คหลังเป็นโช้คสปริงคู่แบบตายตัว (ไม่สามารถปรับตั้งได้) ช่วงล่างล้ำยุคแบบนี้ต้องเจอกับถนน บางนา-ตราด!! เริ่มการทดสอบด้วยความเร็วยืนพื้น 60 กม./ชม. เราวิ่งผ่านถนนบางนา-ตราด ช่วงเลยสุวรรณภูมิมาเล็กน้อยก่อนจะเจอกับโซนโรงงานซึ่งถนนแถวนี้จะขรุขระเป็นช่วงๆ ความรู้สึกแรกบนหลัง Tricity เมื่อวิ่งผ่านพื้นขรุขระ...เราแทบไม่รู้สึกเลยว่าพื้นตรงนั้นไม่เรียบ ช่วงหน้าให้ความรู้สึกนุ่มจนน่าตกใจ เมื่อลองเร่งความเร็วขึ้นเป็น 80 กม./ชม. แล้วลุยกับทางขรุขระและหลุมแบบไม่มีการผ่อนคันเร่ง แม้จะเพิ่มความเร็วระบบช่วงล่างก็ยังคงดูดซับแรงกระแทกได้ดีทั้งหน้าและหลัง ซึ่งจากการทดสอบนี้ทำให้เรารู้สึกแตกต่างอย่างชัดเจนกับรถออโตเมติกรุ่นอื่นที่เคยวิ่งผ่านเส้นทางนี้มา โช้คหน้า 4 ตัว รวมถึงระบบ LMW ช่วยกันกระจายแรงกระแทกไปเท่าๆ กันทั้ง 2 ล้อ โช้คทั้ง 4 ตัวช่วยกันดูดซับแรงกระแทกและส่งคืนแรงดีดของโช้คได้อย่างนุ่มนวล การกระแทกหลุมต่อเนื่องหรือพื้นผิวขรุขระเป็นระยะทางยาวไม่ส่งผลต่อการขับขี่ ตัวรถและผู้ขับขี่ยังสนุกกับการขับขี่และสามารถโฟกัสไปที่รถสิบล้อและรถทัวร์แทนที่จะต้องนั่งห่วงเรื่องพื้นผิวขรุขระ โช้คหลังคู่ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้โช้คหน้า นักทดสอบหนัก 89 กก. รู้สึกสะเทือนน้อยมากตลอดการวิ่งผ่านถนนบางนา-ตราด ที่น่าสนใจของระบบช่วงล่างคือจังหวะที่เจอกับคอสะพาน เนื่องจากช่วงหน้าของ Tricity มีน้ำหนักมากกว่ารถทั่วไปทำให้ช่วงหน้ากดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเจอกับคอสะพาน สำหรับมือใหม่เราแนะนำให้พุ่งเข้าหาคอสะพานอย่างระมัดระวัง...หรือลดความเร็วให้เหลือ 40-60 กม./ชม. จะปลอดภัยที่สุด (ที่จริงเราก็ไม่ควรกระโดดคอสะพานอยู่แล้วหละครับ) อีกจุดที่ควรระวังถึงแม้ว่าระบบช่วงล่างของ Tricity จะยอดเยี่ยมแค่ไหนก็ตาม...มันคือ "หลุมมรณะ" หลุมสิบล้อขนาดใหญ่ไม่ใช่อะไรที่ควรพุ่งเข้าหาด้วยความเร็ว เนื่องจากระยะยุบของโช้คหน้า Tricity อยู่ที่ 90 มม. หรือ 9 ซม. นั่นทำให้การกระแทกหลุมขนาดใหญ่แบบนี้ควรใช้ความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงจะเป็นการดีที่สุด จากการทดสอบตกหลุมขนาดใหญ่...ในกรณีที่ล้อหน้าเพียงล้อเดียวตกหลุมลึก คนขี่จะรู้สึกถึงแรงสะเทือนน้อยมาก แต่เมื่อทั้ง 2 ล้อตกลงหลุมโช้คหน้าอาจยุบจนสุด (เพราะน้ำหนักของช่วงหน้าบวกกับน้ำหนักคนขี่) จนอาจทำให้รู้สึกกระด้างหรือสะเทือนได้...แต่สุดท้ายแล้วในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ – หลบไม่ทัน Tricity ก็ยังคงรักษาสมดุลของช่วงหน้าและพาเราเดินทางต่อไปได้อย่างราบรื่น ข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนของระยะ Sag ของโช้คสำหรับนักทดสอบหนัก 90 กก. นั้นอยู่ที่ 15% ด้านหน้า และ 30%  ด้านหลัง (นั่นแปลว่าคนตัวใหญ่จะรู้สึกนุ่มกำลังดี) ในขณะที่ระยะ Sag ของคนขี่หนัก 72 กก. อยู่ที่ 5% ด้านหน้าและ 25% ด้านหลัง (คนตัวเล็กอาจรู้สึกกระด้างเมื่อเจอหลุม แต่บนพื้นเรียบจะรู้สึกนุ่มไม่แพ้กัน) ส่วนคนขี่ที่ตัวใหญ่สุดๆ ซึ่งหนัก 98 กก. จะมีระยะ Sag อยู่ที่ 20% ด้านหน้า และ 40% ด้านหลัง...เมื่อดูจากค่า Sag แล้วก็พอจะบอกได้ว่า Tricity พร้อมรองรับน้ำหนักตัวคนขี่ทุกขนาดทุกไซส์ได้อย่างลงตัวเลยครับ

Cornering – การเข้าโค้ง
         ระหว่างการเดินทางเราได้แอบแวะเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติเขาเขียว ซึ่งเมื่อขี่รถเลยขึ้นไปจากโซนสวนสัตว์จะพบกับเส้นทางขึ้นเขาคดเคี้ยวและค่อนข้างชัน เมื่อผ่านส่วนที่สูงชัดขึ้นไปแล้วจะเจอกับโค้งกว้างๆ ให้ได้ซัดกันอย่างเต็มที่ หลังจากลองซัดดู (หลายรอบ) พบว่าการคอนโทรล Tricity เข้าโค้งเป็นอะไรที่ "เพลิดเพลิน" มาก คงเป็นเพราะระบบเลี้ยว LMW และ 2 ล้อด้านหน้าที่ทำให้เข้าโค้งได้แบบ "ไม่ต้องคิดมาก" แค่เลือกความเร็วที่ต้องการ เลือกไลน์โค้งที่ชอบ...แล้วพับรถลงไปได้เลย ขณะที่ตัวผู้ขับขี่นั่งอยู่ในท่าผ่อนคลาย มือควบคุมแฮนด์แบบไม่เกร็งมาก แต่องศาของรถ มุมเลี้ยวของช่วงหน้าและการยึดเกาะของล้อหลังกับพื้นทำให้เราเข้าโค้งได้เร็ว – มั่นคง และ สนุกไปกับการขับขี่  ความเร็วในการพลิกตัวรถจากซ้ายไปขวาในจังหวะเปลี่ยนไลน์ในโค้งต่อเนื่องทำได้ดีจนน่าประหลาดใจ แม้จะดูใหญ่เทอะทะแต่ระบบ LMW ช่วยให้พลิกรถได้รวดเร็วไม่แพ้รถออโตเมติกธรรมดาเลยทีเดียว  ที่แตกต่างจากรถออโตเมติกธรรมดาก็คือความ "มั่นใจ" ด้วยบาลานซ์ที่ดีของตัวรถที่มาจากล้อหน้าคู่บวกกับยางและระบบช่วงล่างทำให้เราสามารถโฟกัสไปที่โค้งต่อไปแทนที่จะห่วงเรื่ององศาของรถหรือน้ำหนักในการ "แบน" รถเข้าโค้ง Tricity กลายร่างจากรถ City Bike เป็น Fun Bike ได้ทันทีที่ได้เจอกับโค้ง

Off – The – Road >>> ออก – จาก – ถนน
         แถมบททดสอบพิเศษ (แฟนเพจ FRM ถามมา) ว่า Tricity นอกจากขี่ในเมืองแล้ว...มันจะไปลุยทางฝุ่นได้หรือไม่? เราอาศัยโอกาสที่ได้ขึ้นไปบนอุทยานเขาเขียวทดสอบวิ่งออกนอกถนนลาดยางดูเพื่อหาคำตอบให้กับผู้ที่สงสัย จากถนนลาดยางออกสู่ถนนเทคอนกรีต จากนั้นถนนค่อยๆ หดลงเหลือเพียงทางปูนซึ่งมีขนาดพอดีกับล้อรถยนต์...แม้ Tricity จะมี 2 ล้อหน้า แต่มันสามารถขี่ไปบนแผ่นปูนได้อย่างมั่นใจ แม้อีกล้อจะวิ่งออกนอกแผ่นปูนแต่ระบบ LMW กลับช่วยรักษาบาลานซ์และทำให้รถยังคงตั้งตรงอยู่ได้และลุยต่อได้แบบไม่หวั่น จังหวะที่ล้อใดล้อหนึ่งวิ่งออกนอกทางปูน...เราสามารถหักแฮนด์และดึงล้อนั้นกลับขึ้นมาได้โดยไม่มีอาการส่ายหรือดริฟท์ของล้อนั้น เมื่อสิ้นสุดทางปูน...เราลุยกันต่อบนทางที่เต็มไปด้วยกรวดและหิน Tricity อาศัยจุดเด่นที่มี 2 ล้อหน้าช่วยรักษาสมดุลของรถได้ดีจนทำให้การวิ่งบนทางฝุ่นรู้สึกแทบไม่ต่างจากทางเรียบ แม้จะเจอกับพื้นกรวดซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับรถ 2 ล้อ แต่ Tricity สามารถบุกตะลุยไปได้โดยไม่มีอาการ "แถ" หรือสไลด์ของล้อหน้า แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือจังหวะเข้าโค้งที่มีทรายหรือพื้นที่ค่อนข้างลื่น...เนื่องจากช่วงหน้าของรถมีน้ำหนักพอสมควรทำให้น้ำหนักที่กดลงไป 2 ล้อนั้นมากและเมื่อเจอกับพื้นที่ไม่คงที่อาจทำให้ล้อหน้าเกิดอาการสไลด์ได้ ทางที่ดี...เมื่อเจอกับโค้งที่มีทรายควรชะลอความเร็วและเอียงรถเข้าโค้งให้น้อยที่สุด แต่สำหรับทางปกติที่ขรุขระ...Tricity ลุยได้สบายหายห่วงครับ สรุป – Tricity ไม่ได้ถูกสร้างมาให้วิ่งได้แต่ในเมือง...อยากจะขี่เที่ยวขี่ลุยวันหยุดก็พร้อมเสมอ!

Brake Testing – ทดสอบระบบเบรก
         Tricity มาพร้อมระบบเบรกแบบ UBS ย่อมาจาก Unified Braking System หรือ ระบบกระจายแรงเบรกหลัง หลักการทำงานของมันคือ เมื่อใช้เบรกหลังระบบจะเชื่อมเบรกหลังกับเบรกหน้าจากนั้นเบรกหน้าจะทำงานโดยอัตโนมัติซึ่งจะมีกำลังแรงเบรกเพียงแค่ 30% ยามาฮ่าใส่ระบบเบรก UBS นี้เข้ามาก็เพราะคนใช้รถส่วนมากจะใช้เบรกหลังเป็นหลัก และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด Tricity จึงสามารถหยุดรถด้วยระยะที่สั้นมากโดยการแตะแค่เบรกหลังเพียงอย่างเดียว สำหรับความรู้สึกแรกของเรากับเบรก UBS ต้องบอกว่า "น่าประทับใจ" เบรกหน้าและหลังทำงานเข้าขากันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นใจร้อนที่อาจเผลอขี่เร็วเกินไปจนต้องใช้เบรกกะทันหันหรือคุณผู้หญิงมือใหม่ที่เพิ่งขี่รถมอเตอร์ไซค์เป็นครั้งแรกก็สามารถใช้เบรกได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย สมรรถนะของระบบเบรกเมื่อใช้งานในเมืองนับว่าน่าพอใจมาก เบรกมั่นใจทั้งบนพื้นเปียกและแห้ง แต่ถ้าต้องเบรกรถที่ความเร็วมากขึ้นล่ะ?...มาดูผลการทดสอบแบบฮาร์ดคอร์กันเลย

FRM Hardcore Brake Testing
A: เบรกหน้า + หลัง 100%
   Test 1: ความเร็ว 40 กม./ชม. ระยะเบรก 5.1 เมตร
   Test 2: ความเร็ว 60 กม./ชม. ระยะเบรก 10.7 เมตร
   Test 3: ความเร็ว 80 กม./ชม. ระยะเบรก 25.4 เมตร
B: เบรกหน้า 100%
   Test 1: ความเร็ว 40 กม./ชม. ระยะเบรก 7.1 เมตร
   Test 2: ความเร็ว 60 กม./ชม. ระยะเบรก 17.70 เมตร
   Test 3: ความเร็ว 80 กม./ชม. ระยะเบรก 35.1 เมตร
C: เบรกหลัง 100%
   Test 1: ความเร็ว 40 กม./ชม. ระยะเบรก 5.2 เมตร
   Test 2: ความเร็ว 60 กม./ชม. ระยะเบรก 24.1 เมตร
   Test 3: ความเร็ว 80 กม./ชม. ระยะเบรก 31 เมตร

         สรุป – จากผลการทดสอบจะเห็นได้ว่าระยะเบรกของการใช้เบรกหลัง 100% นั้นสั้นกว่าเบรกหน้า 100% ซึ่งปกติการใช้เบรกหลังเพียงอย่างเดียวจะมีระยะเบรกมากกว่าเบรกหน้า แต่ในกรณีนี้ Tricity พร้อมเบรก UBS ซึ่งช่วยกระจายแรงเบรกไปด้านหน้า 30% และหลัง 100% เมื่อกำเบรกหลังเพียงอย่างเดียวเบรกหน้าจะทำงานด้วย เมื่อผสมผสานเบรกหลังและเบรกหน้าเข้าด้วยกันจะยิ่งทำให้ระยะเบรกสั้นลงจนน่าตกใจ

Born in city – feels free to ride anywhere. (เกิดในเมือง – แต่มีอิสระไปได้ทุกที่)
         หลังจากหวด Tricity ยาวๆ จากเมืองหลวงมุ่งหน้าทิศตะวันออกไปยังตัวเมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี ได้ทดสอบทั้งแรงบิด สมรรถนะเครื่องยนต์ ความเร็วสูงสุด สมรรถนะช่วงล่าง การทำงานของ LMW ได้ทดสอบระบบเบรก UBS ได้สนุกไปกับโค้ง...ในที่สุดระยะทาง 400 กว่ากม. ก็สิ้นสุดลงพร้อมทั้งความประทับใจใน Tricity คันนี้ ตลอด 1 วัน (ที่เดินทางไกล) และหลายวัน (ที่ขี่มุดรถติดในเมือง) ทำให้เราได้รู้จักเจ้า "รถแห่งอนาคต" คันนี้ยิ่งขึ้น...และสามารถยืนยันได้เต็มปากว่า Yamaha Tricity คันนี้เป็นรถแห่งโลกอนาคตจริงๆ...ลองสัมผัสซักครั้งแล้วจะติดใจ!

We say yes! – เราว่ามันใช่!
- ล้อหน้า 2 ล้อทำให้ขี่สนุกบาลานซ์ดีไม่ต้องห่วงเรื่องการล้มพับ
- LMW ช่วยให้เข้าโค้งได้เร็วแรงและหนึบ นึกจะซิ่งก็พร้อมอยากขี่ชิลล์ก็นุ่ม
- โช้คหน้า 4 ตัวช่วยให้การขับขี่นุ่มจนกล้าลุยไปบนถนนทุกแบบ
- ยางหน้า-หลัง ไซส์ใหญ่แถมแก้มเตี้ยทำให้ขี่สนุก เข้าโค้งมันส์
- เบรก UBS หยุดรถได้อยู่หมัด ใช้เพียงเบรกหลังอย่างเดียวก็สามารถหยุดรถได้อย่างมั่นใจ
- เบาะที่นั่งนุ่มและกว้างรองรับก้นใหญ่ๆ ของนักทดสอบได้ดี
- พักเท้าคนขี่มีพื้นที่กว้าง ขยับปรับเท้าได้ตามชอบ
- เรือนไมล์แบบ LCD Digital พื้นหลังสีขาว – ไฟสีขาว ตัวเลขและตัวหนังสือไซส์ใหญ่สังเกตได้ง่าย
- วินด์ชีลด์ด้านหน้าช่วยทอนแรงลมสำหรับเดินทางไกล
- อัตราเร่งดี (เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวขนาดนี้) เร่งออกตัวได้ดีจังหวะแซงไม่ต้องลุ้น
- กล่องเก็บของใหญ่สะใจเก็บหมวกเต็มใบได้สบาย    - ช่วงหน้าค่อนข้างหนัก อาจไม่ชินสำหรับคนตัวเล็กหรือผู้หญิงมือใหม่

We say no… – เราว่ามันไม่…
- เบาะที่นั่งถูกแบ่งเป็น 2 ชั้นทำให้คนขี่ตัวใหญ่สไลด์ตัวไปด้านหลังไม่ได้ (มีผลกับนักทดสอบในช่วงเดินทางไกล)
- เบรก UBS เชื่อมเบรกหน้ากับหลังและทำงานเมื่อใช้เบรกหลัง สำหรับคนที่ชอบขี่ลุยๆ บางครั้งเมื่อขี่เข้าโค้งแรงเกินไปและต้องการใช้เบรกหลังในโค้งเพื่อแต่งความเร็ว...เบรกหน้าจะทำงานด้วยและอาจทำให้ล้อหน้าสไลด์ได้
- ไม่มีเขี้ยวสำหรับล็อคหมวกกันน็อคใต้เบาะ
- พักเท้าคนซ้อนซ่อนไว้อย่างมิดชิด...จนบางครั้งก็ใช้งานยากไปหน่อย

Our Comment – ความเห็นจากเรา
Komkrit "Komgiggs": Art Director 188 cm. 98 kg. Skill: Intermediate
          "ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสขับขี่ Tricity ต้องขอบอกเลยว่าผิดไปจากที่คิดไว้พอสมควร ด้วยความที่เป็นผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ธรรมดาๆ คนนึง จึงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเจ้าสองล้อข้างหน้านี้ ว่ามันจะช่วยในการขับขี่ ทั้งในเรื่องของการควบคุมรถ การทรงตัว จะทำได้ดีกว่ามอเตอร์ไซค์สองล้อทั่วไปจริงหรือ แต่เมื่อได้ลองก็บอกได้เลยว่าค่อนข้างแตกต่าง และพอใจกับมัน การเกาะถนน และการเข้าโค้งถือว่ามั่นใจมากขึ้น อาจเป็นเพราะพื้นที่หน้าสัมผัสระหว่างหน้ายางกับพื้นผิวถนนมีเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ และด้วยช่วงล่างที่เป็น links อิสระของแต่ละล้อยิ่งช่วยให้รู้สึกได้ชัดเจนเมิ่อต้องวิ่งในสภาพถนนที่ขรุขระเป็นหลุมบ่ออย่างเมืองไทย ส่วนเรื่องสมรรถนะเครื่องยนต์ แม้จะมีพิกัดแค่ 125 ซีซี. แต่ก็ถือว่าพอเพียงที่จะใช้งานในชีวิตประจำวันแล้วสำหรับผม ซ้อนสองคนตัวหนักๆ ยังขี่ขึ้นเขาได้ นี่ไม่ธรรมดาครับ สำหรับภายนอก เรื่องการออกแบบและวัสดุ ผมชอบมาก มันดูสร้างสรรค์ มันดูใหม่ดีครับ

Nopdon "Nnaiae" : The Boss สูง 173 cm. หนัก 72 kg. Skill: Expert
          "ครั้งแรกที่ขี่ทริซิตี้ รู้สึกฝืนๆ เกร็งๆ เล็กน้อย อาจจะเพราะไม่คุ้นชินกับการมี 2 ล้อด้านหน้าและน้ำหนักตัวที่มีมากกว่ามอเตอร์ไซค์ทั่วไป แต่พอปรับตัวจนคุ้นเคยแล้วจะรู้สึกถึงความสบายในการมีล้อเพิ่มขึ้นมา ช่วยให้การทรงตัวและการเข้าโค้งมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ลดความกังวลใจเรื่องล้อหน้าพับลงไปได้มากเมื่อต้องเบรกบนพื้นลื่นๆ หรือเบรกกะทันหัน โดยรวมแล้วทริซิตี้เป็นรถที่ทำให้การขับขี่สนุกมากขึ้นเพราะขี่โดยไม่ต้องกลัวล้ม อีกทั้งช่วงล่างก็มีความนุ่มนวลไม่ว่าสภาพถนนจะขรุขระหรือย่ำแย่ขนาดไหน  แถมเบาะนั่งหนานุ่มยิ่งช่วยให้ขี่สบายเหมือนนั่งอยู่บนก้อนเมฆ แต่อาจจะต้องปรับตัวกับน้ำหนักตัวรถที่มีมากซักหน่อย แต่ถ้าแลกกับความสบายและความเท่ที่ได้รับกลับมาก็ถือว่าคุ้มครับ"

Kampol "Oat" : Test Rider สูง 189 cm. หนัก 90 kg. Skill: Intermediate
          "2 คนนั้นเค้าแย่งพูดไปหมดแล้ว....งั้นก็สรุปสั้นๆ แล้วกันครับว่ามันเป็นรถที่มาจากอนาคต เป็นสัมผัสใหม่ ความรู้สึกใหม่ของการขับขี่จริงๆ ตอนแรกก็งงๆ นะว่ามันจะเข้าโค้งยังไง แต่เมื่อมันเอียงลงไปเท่านั้นหละ...จากนั้นผมก็สนุกกับโค้งจนลืมไปว่ามี 2 ล้อด้านหน้าเลยครับ มันเข้าโค้งเร็วและแบนเข้าโค้งได้ดีมากจนขาตั้งคู่ครูดพื้นแทบทุกโค้งเลยครับ ระบบเบรก UBS นับว่าดีเยี่ยมเบรกหยุดอยู่มือดีมาก แต่มันก็มีด้านที่ไม่ดีเช่นกัน ผมเป็นคนที่เข้าโค้งแรง บางครั้งเข้าโค้งแรงเกินไป อย่างตอนที่กำลังลงจากเขาพระตำหนักที่พัทยา ผมมาแรงเกินไปและอยากแตะเบรกหลังเพื่อช่วยชะลอความเร็วหน่อย แต่เมื่อใช้เบรกหลังมันกลับดึงเบรกหน้าให้ด้วยบวกกับพื้นถนนเส้นนั้นที่ลื่นมากๆ แถมองศาการลงเขาก็ค่อนข้างชัดแถมเป็นโค้ง มันเลยทำให้ล้อหน้าสไลด์ไปหน่อยนึง แต่โชคดีที่ดึงรถกลับมาได้...ยังไงซะนี่ก็เป็นการทดสอบที่เกินกว่าความจำเป็นของผู้ใช้ทั่วไป เชื่อว่าไม่มีใครหวดลงเขาแบบเราหรอกครับ ถ้าเป็นโค้งธรรมดาหรือทางตรงยังไง UBS ก็เอาอยู่ เรื่องความเร็วตอนออกตัวผมว่าดีมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว 150 กก. จังหวะแซงมีแรงเหลือแซงรถยนต์ได้สบาย ความเร็วสูงสุดสำหรับเดินทางต่างจังหวัดอยู่ที่ 100-110 กม./ชม. นับว่ารับได้เมื่อเทียบกับน้ำหนักและซีซี. ของรถ แต่ถ้ามองเรื่องความสนุก ความปลอดภัย ความสบายมาก่อนแล้วละก็...Tricity คุ้มค่ามากๆ ครับ เรื่องสุดท้ายการมุดรถติดในเมือง ขอยืนยันเลยครับว่ามันมุดได้สบาย ยิ่งถ้ามีฝีมือการขับขี่แล้วละก็ยิ่งมุดได้ไม่แพ้รถเล็กๆ เลยครับ ทุกๆ คำถามที่สงสัยกันเราหาคำตอบมาให้แล้วนะครับ ตอนนี้ก็อยู่ที่คุณแล้วหละว่าอยากจะลองด้วยตัวเองรึเปล่า?"
ขอขอบคุณบทความและรูปภาพจากนิตยสาร FRM
Share on Google Plus